วันเสาร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2556

เป้าหมายหลักสูตรใหม่มุ่งสอนให้คิดต่าง-ทำงานเป็น



รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ในฐนะกรรมการปฏิรูปหลักสูตรและตำราการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยความคืบหน้าในการจัดทำหลักสูตรใหม่ว่า เมื่อเร็วๆนี้ที่ประชุมได้นำข้อมูลจากการวิจัยสำรวจซึ่งค้นพบคุณลักษณะของเด็กไทยในปัจจุบัน ที่น่าเป็นห่วงและต้องแก้ไข มาเป็นเป้าหมายในการจัดทำหลักสูตรการศึกษาใหม่เพื่อเปลี่ยนแปลงคุณลักษณะของเด็กไทยให้ดีขึ้น  โดยคุณลักษณะของเด็กที่พบมี 3 กลุ่ม คือ 

1.การยอมรับการคอรัปชั่น  
2.มีเด็กไทย 12% เท่านั้นที่คิดเป็นคิดได้และกล้าแสดงความคิดเห็น ขณะที่  63% คิดได้แต่เงียบ ไม่แสดงออก สุดท้ายก็คล้อยตามผู้อื่น  และที่เหลืออีก 25% เป็นเด็กที่คิดไม่ได้ แสดงออกก็ไม่ได้  ซึ่งข้อค้นพบดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า สังคมไทยไม่มีความคิดเห็นที่หลากหลาย ไม่มีวิธีคิด และ  
3.เด็กไทยขี้เกียจทำงาน ทำงานไม่เป็น เพราะเรียนอย่างเดียว 

รศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวต่อไปว่า จากข้อค้นพบดังกล่าวทำให้จำเป็นต้องปรับเรื่องการจัดการเรียนการสอนใหม่  จากเดิมที่ครูเขียนข้อมูลบนกระดานแล้วให้เด็กแสดงความเห็นว่า เห็นด้วยหรือไม่ หากไม่เห็นด้วย ครูก็จะพยายามชักจูงให้เด็กเห็นด้วยกับครู มาเป็นว่า ครูจะต้องถามเด็กว่า ใครที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างไปจากครู แล้วนำเสนอเพื่ออภิปราย ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้เด็กกล้าคิดกล้าแสดงออก มิฉะนั้นสังคมไทยจะคิดเห็นคล้อยกันไปทั้งประเทศ ขณะเดียวกันต้องปรับค่านิยมของพ่อแม่ด้วยไม่ใช่ให้ลูกเรียนอย่างเดียว เพราะคิดแต่อยากให้ลูกสบาย จนทำงานไม่เป็น

รศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวอีกว่า สำหรับการจัดเวลาเรียนนั้น ที่ประชุมเห็นว่า ระดับประถมแต่เดิมที่กำหนดว่าควรเรียนในห้องเรียน 800 ชั่วโมง ยังมากเกินไป น่าจะจัดให้เหลือไม่เกิน 600 ชั่วโมง แล้วไปเพิ่มการเรียนรู้นอกห้องเรียนแทน  

ส่วนวิชาที่จะจัดการเรียนการสอนก็เน้นไปตามช่วงชั้น เริ่มตั้งแต่ช่วงชั้นที่ 1 ระดับ ป.1-3 จะเน้นการเรียน 3 วิชาหลัก คือ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ เนื่องจากมีงานวิจัยระบุชัดเจนว่า หากเด็กเก่งคณิตศาสตร์จะส่งผลให้เรียนเก่งในทุกวิชา  แต่ระดับประถมจะมีการบูรณาการโครงงานให้เด็กได้เรียนรู้และเก็บข้อมูลเป็นส่วนเสริม ทั้งโครงงานวิทยาศาสตร์ โครงงานสังคมและชุมชน โครงงานสุนทรียะ คุณธรรมและวิถีประชาธิปไตย 

เมื่อขึ้นระดับมัธยมแล้ว การเรียนในลักษณะบูรณาการจะลดลง และเพิ่มการเรียนเป็นรายวิชามากขึ้น รวมถึงการเรียนรู้ด้านทักษะชีวิตและโลกของงาน  เพื่อให้เด็กทำงานเป็น และเห็นความสำคัญของงาน ไม่ว่าจะจบชั้นไหนก็สามารถทำงานได้ เป็นคนดีในวิถีประชาธิปไตย และมีทักษะในการเรียนรู้ตลอดชีวิต

ที่มา ผู้จัดการออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

การแสดงความคิดเห็นมาจากบุคคลทั่วไป Admin ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบต่อความคิดเห็นนั้น และสามารถที่จะลบข้อความนั้นทิ้ง โดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า หากข้อความนั้น ไม่สร้างสรรค์ หรือไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา

โปรดแสดงความคิดเห็นอย่างสุภาพ