วันเสาร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ความเป็นมา มานะ มานี ปิติ ชูใจ

มานะ มานี ปิติ ชูใจ
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
-----------------------------------------------------------------------------------------
ปกหนังสือแบบเรียน
มานะ มานี ปิติ ชูใจ เป็นชุดแบบเรียนภาษาไทยระดับประถมศึกษา ในชั้นประถมปีที่ 1-6 รวมทั้งสิ้น 12 เล่ม ซึ่งใช้ในการเรียนการสอนภาษาไทยระหว่างปี พ.ศ. 2521-พ.ศ. 2537 เขียนโดยรัชนี ศรีไพรวรรณ และใช้รูปภาพประกอบกับเนื้อหาโดยเขียนภาพประกอบโดย 3 คือ เตรียม ชาชุมพร นักวาดการ์ตูนและนิยายภาพชื่อดังแห่งชัยพฤกษ์การ์ตูน, โอม รัชเวช และปฐม พัวพิมล

ประวัติ
------------------------------------------------------------------------------------------
ที่มาของแบบเรียน เริ่มจากกระทรวงศึกษาธิการมีความต้องการ ต้องการเปลี่ยนหลักสูตรใหม่ ซึ่งแต่เดิมแบบเรียนภาษาไทยชุดเก่าดูโบราณเกินไป โดยตั้งเงื่อนไขว่า ต้องให้เด็ก ๆ อ่านแล้วรู้สึกสนุก ติดใจ อยากเรียนภาษาไทย เมื่อเขียนเสร็จได้นำมาปรับปรุงและทดลองใช้จนแน่ใจว่า เรื่องราวเนื้อหา ที่เด็กอ่านนับล้านคน เป็นเรื่องที่ดี บริสุทธิ์ ไม่เป็นพิษเป็นภัย ในแต่ละชั้นเรียนจะได้รู้จักคำศัพท์ใหม่ เพิ่มขึ้นในแต่ละปีการศึกษา โดยในตอนที่เป็นแบบเรียนภาษาไทยยังไม่มีชื่อ แต่รัชนี ศรีไพรวรรณ ผู้เขียนแบบเรียน เล่าว่า ก็มีคนเรียกเล่น ๆ ว่าเรื่อง "ตำนานเด็กดี" แบบเรียนนี้ใช้เวลาเขียนนานกว่า 4 ปี มุ่งหมายสอนให้ความรู้ทางภาษาทั้งการฟัง พูด อ่าน เขียน ด้วยจำนวนคำ เริ่มตั้งแต่ชั้น ป. 1 กำหนดคำไว้ 150 คำ และเพิ่มขึ้นเป็นพัน ๆ คำ เมื่อเลื่อนชั้นปี จนมาถึงปี 2537 ก็ถูกถอดออกจากแบบเรียนเพราะเนื้อหาในหนังสือเรียนไม่ทันยุคทันสมัย

สาระของบทเรียน
--------------------------------------------------------------------------------------------
มานะ มานี ปิติ ชูใจ มีเรื่องราว ตัวละคร และการดำเนินเรื่องเหมือนชีวิตจริง เพื่อให้เรื่องสนุกสนาน น่าอ่าน และเพิ่มประสบการณ์ทางภาษา มีเรื่องราวแสดงบทบาทของตัวละครและเหตุการณ์ ที่แสดงบุคลิกนิสัยและคุณธรรม แต่ละบทมีภาพประกอบ ท้ายของแต่ละบท มีแบบฝึกฝนความรู้ โดยใช้ประมวลคำพื้นฐานในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-4 จำนวน 4,000 คำ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 450 คำ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 800 คำ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 1,200 คำ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 1,550 คำ สำหรับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5-6 ไม่กำหนดประมวลคำ

ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1

เล่ม 1-2 รวม 40 บท มีคำใหม่ 450 คำ โดยเล่ม 1 นำคำที่สื่อความหมายได้ มาเรียงเป็นคำ ๆ ผสมคำจากพยัญชนะบางตัวและรูปสระง่าย ๆ เริ่มจาก แม่ ก กา จนมีตัวสะกดทั้ง 8 แม่ คำควบกล้ำ, อักษรนำ, สระ, เครื่องหมายไม้ยมก, รูปวรรณยุกต์ทั้ง 4 รูป และเครื่องหมายทัณฑฆาต คำต่าง ๆ นั้นผูกเป็นเรื่องราว มีตัวละครจำนวน 5 คน ได้แก่ มานะ, ปิติ, วีระ เด็กหญิง 2 คน ได้แก่ มานี, ชูใจ มีสัตว์เลี้ยงประจำตัวเด็ก เช่น มานี มานะ มีหมาชื่อ เจ้าโต, วีระ มีลิง ชื่อ เจ้าจ๋อ, ปิติ มีม้า ชื่อ เจ้าแก่ และชูใจ มีแมวชื่อ สีเทา
เล่ม 2 มีเนื้อหาสอดแทรกให้เด็กรู้จักรักสัตว์ รักเพื่อน รักธรรมชาติ รักษาความสะอาดในโรงเรียน ตลาด มารยาทสังคม เช่นการกล่าวสวัสดี ขอโทษ ครับ ค่ะ เป็นต้น

ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2

รวมมี 30 บท มีคำใหม่ 800 คำ ตัวละครยังคงเป็นชุดเดิม สอนคำใหม่อย่าง คำควบกล้ำ, ตัวสะกดไม่ตรงมาตรา, อักษรนำ การย้ำคำที่ ย, ว สะกด โดยผูกกับเรื่องราวที่มีสาระเกี่ยวกับประสบการณ์ที่เด็กควรรู้ ควรปฏิบัติ เช่น การศึกษาเล่าเรียนในโรงเรียน, ดวงจันทร์, รุ้งกินน้ำ, การเดินทางโดยรถไฟ, ภูมิประเทศสองข้างทางรถไฟ ทำความรู้จักกับยานพาหนะชนิดต่าง ๆ เช่น เครื่องบิน, รถยนต์ ยังคงกล่าวย้ำเรื่องความสะอาดในสถานที่ต่าง ๆ วัฒนธรรมอย่างการขนทรายเข้าวัด ตักบาตร ลอยกระทง นอกจากนั้นยังสอนให้รู้จักเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน สัญญาณจราจร, การรู้จักบุคคลในท้องถิ่น เช่น สาธารณสุขอำเภอ, เกษตรอำเภอ, ตำรวจ, นายอำเภอ เป็นต้น

ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3

รวมมี 20 บท มีคำใหม่ 1,200 คำ สอนเรื่องคำที่สะกดไม่ตรงมาตราในแม่ต่าง ๆ, การใช้ รร, ทร เป็น ซ, กลุ่มคำซ้อน, คำประวิสรรชนีย์, คำพ้องเสียง, คำราชาศัพท์ที่ควรรู้ ผูกเรื่องราวโดยแทรกนิทานพื้นบ้างอย่าง โสนน้อยเรือนงาม, ศรีธนนไชย, พระอภัยมณี ตอนสุดสาครปราบม้านิลมังกร, ขุนช้างขุนแผน ตอนพลายชุมพลปราบจระเข้ นอกจากนั้นยังมี เรื่องความรู้ทั่วไปนำมาสอดแทรกอย่างเช่น ยาเสพติด กิจกรรมของลูกเสือ ความรู้เชิงธรรมชาติศึกษา และยังมีการนำวรรณคดีไทย นิทานพื้นบ้าน แทรกเข้ามา ส่วนตัวละครเริ่มเห็นนบุคลิกภาพต่าง ๆ กัน

ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4

รวมมี 30 บท มีคำใหม่ 1,550 คำ นอกจากการเรียนรู้ภาษาไทยยังมีให้ความรู้ในวิชาอื่น ในส่วนภาษาไทย ความรู้ที่ได้เช่น เกมต่อคำไทย, กลุ่มคำ, รูปประโยคแบบต่าง ๆ, สำนวน, พังเพย, ภาษิตต่าง ๆ, ปริศนาคำทาย, การเขียนจดหมาย, การบันทึกประจำวัน, การใช้เครื่องหมายต่าง ๆ เช่น ? ! ( ) ฯลฯ ราชาศัพท์ มีเรื่องวรรณคดีไทยอย่างเช่น ขุนช้างขุนแผน ตอน กำเนิดพลายแก้ว, คนังเงาะน้อย, สังข์ทอง, รามเกียรติ์ ตอน หนุมานลองดีพระฤๅษี, สุวรรณสาม ในด้านการให้ความรู้ประวัติศาสตร์เช่น ดอนเจดีย์, ท้าวเทพกษัตรีย์ ท้าวศรีสุนทร ส่วนด้านประเพณีไทยเช่น สงกรานต์, เล่นสะบ้า, ละครลิง, เพลงพวงมาลัย ในด้านความรู้ด้านอาชีพ เช่น เกษตรอำเภอ, การเลี้ยงปลานิล, การปลูกเงาะ, การเลี้ยงหอย นอกจากนั้นยังให้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน เช่น การทำโทรศัพท์อย่างง่าย อีกทั้งยังมีการสอดแทรกด้านจริยธรรม เช่นการที่ปิติที่ไม่ยอมลอกข้อสอบของเพื่อน และตอนเก็บกระเป๋าสตางค์ได้แล้วนำไปคืนเจ้าของ

ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5

ในหนังสือเรียนชั้นปีนี้มี 2 ส่วน ส่วนแรกมี 20 บท ส่วนหลังเป็นนักเรียนค้นคว้านอกเวลา 4 เรื่อง มีการเรียนรู้ ความหมายของคำ ทุ่ม-โมง, ย่ำ-ยาม, เกาะหนู เกาะแมว, เกษตรกรที่หุบกะพง ส่วนด้านวรรณคดีไทย กล่าวถึงเรื่อง พระอภัยมณี ตอน สินสมุทร, รามเกียรติ์ ตอนน้ำบ่อน้อย ด้านการละเล่นไทยพูดถึงลักษณะเพลงเกี่ยวข้าว เรียนรู้เรื่องธรรมชาติและการท่องเที่ยวเช่น เรื่องธรรมชาติของน้ำตก วีรกรรมที่บ้านบางระจัน, ประเพณีบุญบั้งไฟของชาวอีสาน และนิทานเรื่องสามัคคีเภท
ส่วนหลังของเล่ม ที่เป็นหนังสืออ่านนอกเวลา 4 เรื่องคือ เรื่องนกกระจาบ, เรื่องสังข์ทอง ตอนเลือกคู่และหาเนื้อหาปลา, เรื่องการผจญภัยของผ้าขี้ริ้ว (ผลงานนักเรียน) และ เรื่องแปล 1 เรื่อง คื่อเรื่องเมาคลีลูกหมาป่า

ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6

เล่ม 1 มี 10 บท โดยสอนเรื่องด้านต่าง ๆ ทั้งการฟัง, พูด, อ่าน, เขียน และคิด เช่น การตั้งใจฟัง, การพูดในโอกาสต่าง ๆ, การเขียนจดหมาย, การใช้สำนวนอุปมาอุปมัย, การเลือกใช้คำให้เหมาะสมกับกาลเทศะและบุคคล เป็นต้น ในส่วนวรรณคดี เช่น เรื่อง พระรถเมรี, พระสังข์ศิลปไชย มีการให้ความรู้ด้านประวัตศาสตร์และตำนานอย่างเรื่อง พระยาพิชัยดาบหัก และประวัติวัดพนัญเชิง (พระเจ้าสายน้ำผึ้ง และนางสร้อยดอกหมาก) ในส่วนรัฐพิธี กล่าวถึงพิธีพืชมงคล, พิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ และการลงคะแนนเสียงตามระบอบประชาธิปไตย ส่วนท้ายเล่มมีหนังสืออ่านนอกเวลา 3 เรื่องคือ ละครพูดเรื่อง พระร่วง พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6 สองตอน บทละครเรื่อง ระบำดอกฝิ่น (ผลงานนักเรียน) และเรื่องสั้น ไอ้ตุ่น ของรัชนี ศรีไพรวรรณ

เล่ม 2 มี 10 บท มีเนื้อหาเกี่ยวกับสมุดบันทึก สอนให้ฝึกหัดการบันทึก ประวัตินักเล่านิทานอย่าง อีสป และ สุนทรภู่ ในด้านภาษา สอนการฝึกพูดโต้วาที เรื่อง การอ่านยากกว่าการเขียน มีเนื้อหาวรรณคดีอย่าง เรื่อง รามเกียรติ์ ตอนศึกทรพี ส่วนในบทสุดท้าย กล่าวถึงการเรียนจบประโยคประถมศึกษา ในตัวละครของเรื่องก็แยกย้ายกันไปตามวิถีชีวิตของตน

ตัวละคร
---------------------------------------------------------------------------------------------
ภาพตัวละครในเรื่อง

มานี รักเผ่าไทย 
มีหมาน้อยชื่อ "เจ้าโต" มานีเป็นเด็กเรียนดี เป็นคนเดียวในโรงเรียนที่เรียนต่อระดับมัธยมศึกษาที่กรุงเทพ ในชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มานีเป็นรองประธานนักเรียนของโรงเรียน

มานะ รักเผ่าไทย 
เป็นพี่ของมานี มีสัตว์เลี้ยงเป็นนกแก้ว

ปิติ พิทักษ์ถิ่น 
มีม้าชื่อ "เจ้าแก่" ตอนหลังเจ้าแก่ตาย ทำให้ปิติเศร้า ต่อมาถูกสลากออมสินเป็นเงินจำนวน 1 หมื่นบาท จึงนำเงินไปซื้อลูกม้าตัวใหม่และตั้งชื่อให้ว่า "เจ้านิล" ทดแทนการตายของเจ้าแก่

วีระ ประสงค์สุข 
เป็นเด็กอาภัพ มีพ่อเป็นทหารตายในระหว่างรบ ตั้งแต่วีระยังอยู่ในท้อง ส่วนแม่ตรอมใจตายหลังจากคลอดวีระ 15 วัน ทำให้วีระอยู่กับลุงตั้งแต่เกิด วีระมีลิงแสมชื่อ "เจ้าจ๋อ"

ดวงแก้ว ใจหวัง 
มีบ้านเกิดอยู่ที่จังหวัดสุพรรณบุรี

ชูใจ เลิศล้ำ 
เป็นเพื่อนสนิทมานี มีแมวชื่อ "สีเทา" ชูใจอยู่กับย่าและอา ตั้งแต่เล็ก โดยไม่รู้รายละเอียดของพ่อและแม่ที่แท้จริง ซึ่งความจริงคือ พ่อของเธอเสียชีวิตตั้งแต่ชูใจอายุ 1 ขวบ ส่วนแม่ก็อาศัยอยู่ต่างประเทศ และต่อมาแม่บินกลับมารับชูใจกลับไปอยู่ด้วยกัน แต่ชูใจกลับเลือกอยู่กับย่า

สมคิด 
มีปู่อยู่ที่จังหวัดภูเก็ต จบป.6 แล้วก้ย้ายกลับเรียนต่อและอยู่ที่ภูเก็ต

เพชร 
เกิดในครอบครัวจน มีบ้านเกิดอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี เคยพุ่งฉมวกปักงูในอุโมงค์ช่วยเหลือเพื่อน แม่ของเพชรถูกงูกัดตายขณะเก็บหน่อไม้ในป่า

จันทร 
เป็นผู้หญิง ขาลีบพิการ ในตอนท้ายของเรื่อง ได้รับคัดเลือกให้ร้องเพลง "ความฝันอันสูงสุด" และยังได้อ่านทำนองเสนาะต่อหน้าพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าให้แพทย์หลวง รับตัวไปรับการผ่าตัดขาที่กรุงเทพฯ จนขาหายเป็นปกติ

คุณครูไพลิน 
เป็นครูประจำชั้นตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึง ปีที่ 3 คุณครูไพลินพบเกษตรอำเภอที่ชื่อว่า "ทวีป" ครั้งแรกเมื่อคราวไฟไหม้ตลาด ซึ่งเด็กๆ เป็นตัวเชื่อมให้ได้รู้จักและแต่งงาน ทั้งคู่มีลูกสาวด้วยกัน 1 คน

คุณครูกมล 
เป็นครูประจำชั้นตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ถึงปีที่ 6

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

การแสดงความคิดเห็นมาจากบุคคลทั่วไป Admin ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบต่อความคิดเห็นนั้น และสามารถที่จะลบข้อความนั้นทิ้ง โดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า หากข้อความนั้น ไม่สร้างสรรค์ หรือไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา

โปรดแสดงความคิดเห็นอย่างสุภาพ