วันเสาร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2557

วันอาทิตย์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2557

การเรียนรู้ในศตวรรษ ที่ 21



   ศตวรรษที่ 21 สถานการณ์โลกมีความแตกต่างจากศตวรรษที่ 20 และ 19 ระบบการศึกษา ต้องมีการพัฒนาเพื่อให้สอดคล้องกับภาวะความเป็นจริง

         ในประเทศสหรัฐอเมริกาแนวคิดเรื่อง "ทักษะแห่งอนาคตใหม่: การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21" ได้ถูกพัฒนาขึ้น โดยภาคส่วนที่เกิดจากวงการนอกการศึกษา ประกอบด้วย บริษัทเอกชนชั้นนำขนาดใหญ่ เช่น บริษัทแอปเปิ้ล บริษัทไมโครซอฟ บริษัทวอล์ดิสนีย์ องค์กรวิชาชีพระดับประเทศ และสำนักงานด้านการศึกษาของรัฐ รวมตัวและก่อตั้งเป็นเครือข่ายองค์กรความร่วมมือเพื่อทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 (Partnership for 21st Century Skills) หรือเรียกย่อๆว่า เครือข่าย P21

        หน่วยงานเหล่านี้มีความกังวลและเห็นความจำเป็นที่เยาวชนจะต้องมีทักษะสำหรับการออกไปดำรงชีวิตในโลกแห่งศตวรรษที่ 21      ที่เปลี่ยนไปจากศตวรรษที่ 20 และ 19 จึงได้พัฒนาวิสัยทัศน์และกรอบความคิดเพื่อการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21ขึ้น สามารถสรุปทักษะสำคัญอย่างย่อๆ ที่เด็กและเยาวชนควรมีได้ว่า ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม หรือ 3R  และ 4Cซึ่งมีองค์ประกอบ ดังนี้
  • 3 R ได้แก่ Reading (การอ่าน), การเขียน(Writing) และ คณิตศาสตร์ (Arithmetic) และ
  • 4 C (Critical Thinking - การคิดวิเคราะห์, Communication- การสื่อสาร Collaboration-การร่วมมือ และ Creativity-ความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงทักษะชีวิตและอาชีพ และทักษะด้านสารสนเทศสื่อและเทคโนโลยี และการบริหารจัดการด้านการศึกษาแบบใหม่ 
    
   แนวคิดทักษะแห่งอนาคตใหม่: การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 คืออย่างไร และคุณลักษณะที่เด็กและเยาวชนพึงมีในโลกยุคใหม่คืออย่างไร

       นอกจากนี้ยังมีนักการศึกษาอีกท่านหนึ่งที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันเรื่องการฎิรูปการเรียนรู้ดังกล่าวให้กว้างขวางขึ้น คือเซอร์เคน โรบินสัน นักการศึกษาระดับโลก โดยได้เน้นยำ้ถึงความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงแนวคิดการจัดการศึกษาระบบโรงงาน มาเป็นการเรียนการสอนที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้คิดอย่างสร้างสรรค์และเข้ากับบริบทของโลกที่ได้เปลี่ยนแปลงไป  ชมแอนิเมชั่นด้านบน การเปลี่ยนแปลงแนวคิดด้านการศึกษาในศตวรรษที่ 21  (Changing Education Paradigms)โดย เซอร์เคน โรบินสัน 
         กรอบแนวคิดข้างต้นเองก็เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาทักษะแห่งอนาคตใหม่ในประเทศไทยและท่านที่ริเริ่มและมีบทบาทสำคัญในการผลักดันได้แก่ ศ.นพ. วิจารณ์ พานิช โดยท่านได้เขียนลงบล็อก  http://www.gotoknow.org อยู่เป็นประจำ รวมถึงได้เขียนหนังสือออกมาชื่อว่า
วิถีสร้างการเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์ในศตวรรษที่ 21
(สามารถดาวน์โหลดหนังสือได้ที่ http://www.noppawan.sskru.ac.th/data/learn_c21.pdf)
ที่มาของบทความ http://www.qlf.or.th/Home/Contents/417

แรงงานไทยในบริบทใหม่ : การเรียนสายอาชีพเพื่อชาติ


แรงงานไทยในบริบทใหม่ : การเรียนสายอาชีพเพื่อชาติ

          กรุงเทพฯ--21 ต.ค.--ทีมสื่อสารสาธารณะ-ทีดีอาร์ไอ

          สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

          การที่จะชักจูงให้มีผู้สนใจเข้ามาเรียนสายอาชีพมากขึ้น ต้องทำทั้งมาตรการจูงใจและภาคบังคับ เปลี่ยนมุมคิดผู้ปกครองในโลกความจริง คาด 10 ปีเห็นการเปลี่ยนแปลง มีสัดส่วนสายวิชาชีพมากกว่าสายสามัญ ลดจำนวนแรงงานล้นเกิน(ว่างงาน)ทั้งที่ขาดแคลน

          ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยการพัฒนาแรงงาน ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า โครงสร้างแรงงานของไทยมีอัตราการว่างงานค่อนข้างต่ำ ภาคเศรษฐกิจของไทยใช้แรงงานเกินกว่าขีดความสามารถในการเพิ่มของกำลังแรงงานของไทย (Over-employment) ต่อเนื่องกันมานาน ดัชนีชี้วัดที่สำคัญสามารถดูได้จากจำนวนการจ้างงานที่สูงอย่างต่อเนื่องจนอัตราการว่างงานของไทยถึงจะผันผวนเป็นรายไตรมาสไปบ้างแต่ก็มีอัตราค่อนข้างต่ำอยู่ในช่วง 0.5-2.0% ของกำลังแรงงาน
          ยิ่งพิจารณาจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติเป็นรายเดือนตั้งแต่เดือนมกราคม-สิงหาคม 2557 พบว่าอัตราการว่างงานโดยรวมแต่ละเดือนยังสูงกว่าปี 2556 มาโดยตลอด แต่ยังไม่สูงพอที่จะทำให้การมีงานทำของประเทศไทยลดจำนวนการจ้างงานลง อาทิ ในเดือนมกราคม 2557 มีผู้มีงานทำ 37.79 ล้านคน เดือนสิงหาคมก็ยังมีผู้มีงานทำถึง 38.37 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 0.2% ต่อเดือนจึงไม่น่าแปลกใจว่าปัญหาขาดแคลนแรงงานในเชิงปริมาณจะยังคงมีอยู่แม้ว่าจะดีขึ้นบ้างก็ตาม ปัญหาที่พบคือมีการผลิตบุคลากรที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการในสาขาขาดแคลนโดยดูจากจำนวนผู้ว่างงานที่มีสัดส่วนมากกว่าจำนวนที่ขาดแคลนในทุกระดับการศึกษา เช่น ในปี 2556 ระดับม. ปลาย และ ปวช. ว่างงานมากกว่าจำนวนที่ขาดแคลนถึง 2 เท่า ระดับ ปวส. ว่างงานมากกว่าจำนวนที่ขาดแคลน 2.1 เท่า และระดับ ป. ตรี ว่างงานมากกว่าจำนวนที่ขาดแคลนถึง 3.5 เท่า
          ในปี 2557 กรมการจัดหางานได้คาดการณ์ผู้ที่จบการศึกษาและจำนวนที่เข้าสู่ตลาดแรงงานของผู้ที่จบและเข้าสู่ตลาดแรงงานในระดับล่างเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก ยกตัวอย่างเช่น มีผู้จบมัธยมต้นสูงถึง 741,931 คนและถ้าไม่เรียนต่อต้องใช้เวลาอีก 4-5 ปีจึงจะเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ซึ่งก็มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 11.8 ยิ่งเรียนถึงระดับมัธยมปลายสายสามัญแล้วก็ยิ่งจะออกสู่ตลาดแรงงานน้อยมากเพียงร้อยละ 4.2 เนื่องจากส่วนใหญ่เรียนต่อในระดับปริญญาตรี ส่วนผู้ที่เรียนระดับ ปวช.ซึ่งมีจำนวนผู้จบการศึกษาน้อยกว่าผู้เรียนมัธยมปลายมากอยู่แล้ว และมีผู้ที่จะออกมาทำงานเพียงร้อยละ 8.9 โดยผลการศึกษาของ TDRI พบว่าผู้ที่จบ ปวช. เรียนต่อ ปวส.มากกว่าร้อยละ 70 ถึงกระนั้นก็ตามก็ยังมีจำนวนผู้จบ ปวส.เข้าสู่ตลาดแรงงานเพียงร้อยละ 13.6 เท่านั้น ถ้าจะรวมผู้จบสายอาชีพทั้ง 2 ระดับเข้าด้วยกันก็ยังมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 17.8 ของผู้ที่เข้าสู่ตลาดแรงงานทั้งหมดเท่านั้นเทียบกับผู้จบระดับปริญญาตรีซึ่งมีสัดส่วนของผู้เข้าสู่ตลาดแรงงานสูงถึงร้อยละ 61.5 ของผู้ที่เข้าสู่ตลาดแรงงานทั้งหมด
          เมื่อเทียบกับสัดส่วนของการจ้างแรงงานในตลาดแรงงานจะเห็นว่าเป็นสัดส่วนตรงกันข้ามกับผู้จบการศึกษาและเข้าสู่ตลาดแรงงานโดยสิ้นเชิง จึงทำให้ประเทศไทยขาดแคลนแรงงานระดับล่างและระดับกลางอย่างหนักตลอดมา ยิ่งคำนึงมิติของคุณภาพของผู้จบการศึกษาทั้งสายสามัญและสายอาชีพที่มีสัดส่วนของผู้เรียนสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเทียบกับสายที่มิใช่วิทยาศาสตร์เข้ามาร่วมพิจารณาด้วยแล้วปัญหาการขาดแคลนแรงงานก็ยิ่งจะรุนแรงมากขึ้นไปอีก
          ผอ.วิจัยการพัฒนาแรงงาน ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า การที่ประเทศไทยจะหนีจากกับดักของประเทศกำลังพัฒนาอันยาวนานนี้ได้และมีขีดความสามารถในการแข่งขันกับนานาอารยประเทศในโลกได้ ประเทศไทยไม่มีทางเลือกมากนัก นอกจากจะต้องสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวสินค้าและบริการให้มากขึ้นด้วยการวิจัยและพัฒนาการออกแบบที่เป็นนวัตกรรมของคนไทยมากขึ้น การจะทำเช่นนี้ได้ประเทศไทยจะต้องลดสัดส่วนของการใช้ผู้จบการศึกษาในระดับ ม. ต้น (หรือต่ำกว่า) ซึ่งเป็นแรงงานระดับล่างให้น้อยลงและพยายามปรับปรุงอุปสงค์ต่อผู้ที่มีการศึกษาในระดับกลาง คือ ม. ปลาย รวมถึง ปวช. ให้มากขึ้น เนื่องจากมีข้อสมมติฐานในหมู่นักเศรษฐศาสตร์ว่า การศึกษาในระดับนี้ฝึกอบรมเพิ่มทักษะได้ง่ายสามารถปรับตัวกับกระบวนการผลิตได้ดีกว่า
          เท่าที่ผ่านมาผู้ประกอบการมีความต้องการที่จะจ้างผู้ที่จบสายอาชีพมากขึ้นโดยเฉพาะระดับ ปวช. แต่ผู้ปกครองกลับต้องการให้บุตรหลานได้เรียนในสายสามัญมากกว่าสายอาชีพ (เพื่อหวังให้ลูกได้จบปริญญาตรี) โดยมีสัดส่วนของผู้เรียนสายสามัญต่อสายอาชีพเท่ากับ 66:34 และอยู่ในระดับนี้มานานนับสิบปี และผลการศึกษาของสำนักเลขาธิการสภาการศึกษาก็พบว่าสัดส่วนนี้ไม่ดีขึ้นมีแต่จะเลวลงเช่นในปีการศึกษา 2557 ต่อ 2558 นี้มีสัดส่วนแย่ลงเหลือประมาณ 71:29 ซึ่งถ้ายังปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรมแบบนี้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานผู้จบสายอาชีพในระดับอาชีวศึกษาก็จะถึงขั้นวิกฤติ ประเด็นที่เป็นปัญหามาโดยตลอดอีกมิติหนึ่งคือมิติคุณภาพและการเรียนในสาขาวิชาชีพที่ไม่ตรงกับความต้องการของตลาดซึ่งทำให้ผู้ที่จบสายอาชีพยังคงว่างงานอยู่อีกเป็นจำนวนมากเนื่องจากขาดสมรรถนะที่ผู้ประกอบการต้องการ ทำให้กำลังแรงงานสายวิชาชีพช่างซึ่งมีน้อยอยู่แล้วก็ยิ่งจะน้อยลงไปอีก
          การที่จะชักจูงให้มีผู้สนใจเข้ามาเรียนสายอาชีพมากขึ้นนั้น ผอ.วิจัยการพัฒนาแรงงาน ทีดีอาร์ไอเห็นว่าต้องทำ 2 มาตรการควบคู่กัน คือ มาตรการจูงใจ โดย 1)ต้องปรับทัศนคติของพ่อแม่ที่ต้องการใบปริญญา และนักเรียนเองที่เห็นว่าเรียนสายสามัญมีศักดิ์ศรีกว่าเรียนสายอาชีพ ใช้การแนะแนวเชิงรุกเสริมด้วย Social Media ช่วยในการทำความเข้าใจกับพ่อแม่ผู้ปกครองอีกทางหนึ่ง 2) ต้องสร้างสถานศึกษาพิเศษ สำหรับเด็กพิเศษที่ต้องการเรียนใน Smart TVET School เพื่อเป็น การสร้าง“เด็กอาชีวะรุ่นใหม่” โดยการคัดเลือกสถานศึกษาต้นแบบในทุกจังหวัดใหญ่หรือภูมิภาคของประเทศเพื่อให้เป็นสถานศึกษาที่มีครูดี สถานที่ฝึก (เครื่องมืออุปกรณ์พร้อม) สำหรับเด็กเก่งเข้ามาเรียนอาชีวศึกษาโดยเฉพาะในสายช่าง (อุตสาหกรรม) ได้รับทุนการศึกษา วางหลักสูตรร่วมกับสถานประกอบกิจการหรือผู้ใช้นักศึกษาที่จบ เพื่อการันตีผู้จบเหล่านี้ว่ามีงานทำและมีรายได้ดี 3) สำหรับผู้เรียนอาชีวศึกษาในสายช่างอื่นๆ อาจจะเน้นในทางปฏิบัติร่วมกับผู้ใช้หรือสถานประกอบกิจการให้มากที่สุด อาจจะปรับลดหลักสูตรให้เหลือระยะเวลาเรียนภาควิชาการและฝึกงานจริง (ระบบทวิภาคี) อย่างละเท่าๆ กัน โดยสถานศึกษาพิจารณาจัดหลักสูตรให้ชัดเจนว่า จะให้เด็กที่จบไปทำงานกับใครที่ไหน(ดูตลาดแรงงานที่รองรับเป็นหลัก)
4) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสมาคมวิชาชีพ สภาวิชาชีพต้องร่วมกันกำหนดอัตราค่าจ้างที่เหมาะสม และจะต้องไม่แตกต่างจากผู้จบระดับปริญญาตรีสายอาชีพมากนัก อาทิ ผู้จบ ปวช. ได้เงินเดือน 1 หมื่นบาทขึ้นไป จบ ปวส. 1.2-1.3 หมื่นบาทขึ้นไป เป็นต้น และสำหรับเด็กจบ Smart ปวช. อาจจะให้เงินเดือนที่สูงกว่าเช่นเริ่มต้น 1.2 หมื่นบาท เป็นต้น 5)ให้ความสนใจกับอาชีวศึกษาเอกชนมากกว่า 400 แห่ง ที่ควรต้องได้รับการดูแลพัฒนาให้ดีขึ้น ให้สามารถผลิตบุคลากรตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานได้ดีและมีประสิทธิภาพมากขึ้นภายใต้รั้วเดียวกันกับ สอศ.

          สำหรับมาตรการเชิงบังคับ ซึ่งดร.ยงยุทธ เห็นว่าควรจะนำมาใช้ได้แล้ว นั่นคือ การเพิ่มสัดส่วนของผู้เรียนต่อจากม. 3 เป็นสายสามัญต่อสายอาชีพปัจจุบันจาก 67:33 ให้เป็น 50:50 ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า โดยควรดำเนินการตามแนวทางของสภาการศึกษาฯ ได้แก่ จะต้องจัดตั้งผู้เข้ามารับผิดชอบหาวิธีการในการคัดกรองนักเรียนในระดับ ม. 3 ที่จะจบว่าสมควรจะเรียนต่อสายสามัญ หรือเรียนต่อสายอาชีพ โดยใช้มาตรการทางด้านงบประมาณ (Unit Cost) มาใช้ให้แตกต่างกันอย่างชัดเจน อาทิ ให้การสนับสนุนรายหัวผู้เรียนสายอาชีพมากกว่าสายสามัญร้อยละ 30-50เป็นต้น จำกัดจำนวนนักเรียนสายสามัญต่อชั้นเรียน โดยมีข้อตกลงว่าจะมีนักเรียนไม่เกิน 30 คนต่อห้อง และถ้าเรียนเกินกว่าจำนวนที่กำหนดจะไม่ได้รับเงินอุดหนุนรายหัว และโดยภาพรวมของประเทศจะร่วมกำหนดเป้าหมายว่าแต่ละปีจะลดผู้เรียนสายสามัญได้ปีละเท่าไร และในการบังคับใช้ข้อตกลงคือ เมื่อครบจำนวนโควต้าแล้วจะไม่ได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายรายหัวหรือผู้เรียนไม่ได้รับเงินกู้เรียนเพื่อให้ได้เป้าหมาย 50:50 ให้เร็วที่สุด
          นอกจากนั้นควรเน้นผู้เรียนสายมัธยมศึกษาฐานวิทยาศาสตร์ให้มากขึ้นเพื่อให้มีวัตถุดิบหรือจำนวนผู้จบ ม. 3 ที่จะเข้าเรียนสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น โดยอาจจะใช้มาตรการอุดหนุนหรือการกู้ยืมเงินเป็นเครื่องมือในการสนับสนุนผู้เรียนสายวิทยาศาสตร์มากขึ้น ขณะเดียวกัน เมื่อเข้าสู่มัธยมศึกษาสายอาชีพฐานวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีควรจะได้รับการอุดหนุนรายหัวที่สูงกว่าการเรียนสายอื่นๆ ถ้าทำได้จริงจะเป็นแนวทางในการสนับสนุนให้มีผู้จบมัธยมศึกษาสายอาชีพโดยเฉพาะมัธยมสายอาชีพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เพียงพอและมีคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานในระยะเวลาไม่เกิน 10 ปีถ้าทุกฝ่ายมีความจริงใจและจริงจังในที่สุดอาชีวศึกษาก็จะกลับมาสร้างชาติได้อย่างเต็มภาคภูมิ.
ดูบทความฉบับเต็มได้ที่ ?
http://tdri.or.th/tdri-insight/thai-labour-force/

          สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

การศึกษาไทย ยุคนี้ ต้องปั้นคนดีให้ชาติ ทำได้ไหม ครูไทย


การศึกษาไทย ยุคนี้ ต้องปั้นคนดีให้ชาติ

 ดร.สมเกียรติ บุญรอด -มานิจ สุขสมจิตร
          คนดี มีความรู้คู่จริยธรรม คือคุณสมบัติของคนที่ชาติต้องการ
          คุณสมบัตินี้จะเกิดได้ด้วยการศึกษา ดร.สมเกียรติ บุญรอด ผู้ช่วยเลขาธิการ คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ชี้ให้เห็นความสำคัญเรื่องการสร้างคนดีว่า “คุณธรรมและจริยธรรมของเด็กสำคัญมาก เพราะเด็กคืออนาคตของชาติ ประเทศชาติจะเดินไปข้างหน้าได้ต้องอาศัยเด็กในวันนี้ ถ้าเราไม่สามารถที่จะสร้างจริยธรรมและคุณธรรมให้เกิดขึ้นได้ ต่อไปเราก็จะลำบาก”
          และที่สำคัญ “ผู้ใหญ่ต้องเป็นต้นแบบให้เด็ก เพราะการปฏิบัติให้เห็นเป็นให้ดู มีผลมากกว่าคำสอน ทั้งครูบาอาจารย์ ครอบครัวต้องเป็นต้นแบบให้กับเด็ก จริงอยู่ว่าการปลูกฝังเป็นหน้าที่สำคัญของกระทรวงศึกษาธิการ แต่เราก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง”
          ด้วยเจตนาสร้างคนดีสู่สังคม มูลนิธิไทยรัฐที่ดูแลโรงเรียนไทยรัฐวิทยาถึง 101 โรงเรียน จึงผุดโครงการต้นแบบโรงเรียนไทยรัฐวิทยาขึ้นมา “จริงๆ แล้วเป็นเจตนารมณ์ของ ผอ.กำพล วัชรพล ที่จะสร้างโรงเรียนคนดี มีคุณภาพ เมื่อสอดคล้องกับความต้องการของสังคมปัจจุบันเราก็เลยตอบสนอง” นายมานิจบอก
          นายมานิจ สุขสมจิตร กรรมการมูลนิธิไทยรัฐ ยืนยันในงานสัมมนาโครงการต้นแบบโรงเรียนไทยรัฐวิทยา ณ สวนส้มรีสอร์ท อำเภอวัดเพลง จังหวัดราชบุรี โครงการต้นแบบโรงเรียนไทยรัฐวิทยานี้ เริ่มดำเนินการช่วงแรกระหว่างปีการศึกษา 2557-2560
          กิจกรรมการเรียน นอกจากเรียนตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการแล้ว จะจัดตามกรอบแนวคิด 5 ประการ คือ 1.เป็นผู้นำในเรื่องการพัฒนา ความเป็นพลเมืองดี มีคุณธรรม จริยธรรม 2.เป็นผู้นำในเรื่องหลักสูตรสื่อมวลชนศึกษา 3.นักเรียนทุกคนในโรงเรียนเป็นพลเมืองดี และ 4.บุคลากรทุกคนในโรงเรียนเป็นพลเมืองดี
          ต้นแบบโรงเรียนไทยรัฐวิทยาที่คณะกรรมการได้คัดเลือกเป็นโรงเรียนนำร่อง คือ 1.โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 83 บ้านห้วยโจด ตำบลห้วยโจด อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว 2.โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 12 บ้านเอก ตำบลมะลิกา อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ 3.โรงเรียน ไทยรัฐวิทยา 40 บ้านควนโพธิ์ ตำบลควนโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดสตูล 4.โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 87 นิคมสร้างตนเอง 1 อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี
          และ 5.โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 75 เฉลิมพระเกียรติ แขวงคลองถนน เขตสายไหม กรุงเทพมหานคร
          เหตุผลที่เลือก 5 โรงเรียนนี้ นายมานิจบอกว่า เลือกโรงเรียนที่เป็นศูนย์กลางแต่ละภาค ผู้บริหารหน่วยก้านดีที่จะเป็นต้นแบบ สามารถสืบทอดเจตนารมณ์ของมูลนิธิได้ สาเหตุที่ต้องเลือกแค่ 5 โรงเรียนก่อน เพราะจะได้ฟูมฟักไว้เป็นต้นแบบ ถ้ามีอะไรแก้ไขจะได้คล่องตัว
          แรกสุด “เราไม่ได้หวังให้เกิดถึง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่อย่างน้อยให้เด็กเป็นพลเมืองดี มีคุณภาพทางการศึกษา”
          สำหรับ “การพัฒนาโรงเรียนไทยรัฐวิทยาทั้งหมดนั้น หากเราเดินทางไปพร้อมๆกันมันคงไม่คล่องตัว ต้องทำเป็นต้นแบบก่อน ติดขัดอะไรค่อยแก้ไขปรับปรุงไป เรามีคู่มือประเมินดูว่า ผลจะเกิดตามที่เราต้องการหรือไม่ เราให้เอาใจใส่กับกลุ่ม 8 สาระ และเสริมด้านคุณธรรม จริยธรรมเข้าไป ให้เข้มแข็งทั้งด้านวิชาการและเป็นคนดี” เพราะเรา “มุ่งเน้นให้โรงเรียนไทยรัฐวิทยาเป็นโรงเรียนผลิตคนดี สอนคนดีออกมาสู่สังคม” นายมานิจบอก
          ด้วยความตระหนักในการ “หล่อหลอม” นายสมเกียรติบอกว่า การศึกษาขั้นพื้นฐานได้ระดมนักวิชาการทำคู่มือครู เพื่อใช้อบรมสั่งสอนเด็ก วิชาที่ให้ความสำคัญเป็นพิเศษคือ วิชาหน้าที่พลเมืองและศีลธรรม คาดว่าจะนำมาสอนตั้งแต่เทอมหน้าเป็นต้นไป
          โครงการปั้นเด็กนั้น “เรามีโครงการนำร่องในหลายๆ เรื่อง โครงการเหล่านั้นเราจะพยายามดึงต้นแบบของไทยรัฐวิทยาเข้าร่วมด้วย อย่างโครงการคุณครูสอนดี โรงเรียนมีจริยธรรม โรงเรียนเศรษฐกิจพอเพียง เราจะบูรณาการเข้าด้วยกัน สิ่งเหล่านี้จะเป็นพื้นฐานให้เด็กเป็นคนดีในภายหน้า”
          เพื่อเติมศักยภาพในการสอน “เรามีโครงการพัฒนาร่วมกับมหา– วิทยาลัยบูรพา ซึ่งเราจะเชิญโรงเรียนต้นแบบไทยรัฐวิทยาทั้ง 5 โรงเข้าไปร่วมด้วย นอกจากการอบรมแล้ว เราจะส่งครูไปเทรนด์ที่ประเทศสิงคโปร์ มีเป้าหมายอยู่ที่ 300 คน”
          หน้าตาการศึกษาที่ต้องการปรับปรุง น่าจะทำอย่างไรบ้าง ดร.สมเกียรติบอกว่า ต้องปรับวิธีเรียนและเปลี่ยนวิธีสอน การปรับวิธีเรียนคือ “เด็กเดี๋ยวนี้เน้นการเรียนแบบท่องจำ และการเรียนรู้ของเด็กยังถูกกำกับโดยข้อสอบเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย ข้อสอบที่ออกมานั้น มักจะเป็นข้อความเชิงความจำและความคิดเท่านั้น ไม่ก้าวล่วงไปถึงการวิเคราะห์ ทำให้เด็กเข้าไปกวดวิชาเพื่อที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้เท่านั้น”
          การปรับวิธีเรียน “ถ้าปรับเราก็ต้องปรับทั้งระบบ อย่างในประเทศที่ประสบความสำเร็จในการศึกษา เป็นต้นว่าประเทศสิงคโปร์ ถือได้ว่าเป็นเบอร์หนึ่งของอาเซียน นอกจากนั้นก็ยังมีญี่ปุ่น ฟินแลนด์ ประเทศเหล่านี้มีผลทางการศึกษาดี เราพบว่าการเรียนของเขาจะทำเป็นโครงงาน การเรียนเป็นกระบวนการแก้ปัญหา ฝึกให้เด็กคิด วิเคราะห์ แล้วสามารถสรุปองค์ความรู้ได้ด้วยตนเอง แต่ของไทยเราเรียนตามครูบอก นั่นก็ต้องปรับวิธีสอนด้วย อาจจะต้องคิดวิธีการเรียนการสอนที่ให้เด็กสืบเสาะหาความรู้ด้วยตนเอง แล้วสรุปองค์ความรู้ได้ ครูเป็นผู้อำนวยการในกิจกรรม คือเราต้องปรับวิธีเรียนของเด็ก และวิธีสอนของครูด้วย”
          ดร.สมเกียรติเน้นว่า เรื่องการสอนภาษาอังกฤษต้องเปลี่ยนวิธีการสอนใหม่ เพราะ “เด็กนักเรียนไทยสมัยก่อน เรียนภาษาอังกฤษมาเป็นสิบปี แต่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ เพราะเราไปเน้นเรื่องแกรมม่า ไม่ได้เน้นเรื่องพูด เราถึงพูดกันไม่ได้”
          การแก้ไขในเรื่องนี้ “เราไปเน้นการพูดให้ถูกไวยากรณ์ พอจะพูดกันจริงๆ ก็พูดไม่ได้ มันอาจจะต้องเริ่มจากการพูดกันให้ได้ก่อน ค่อยไปเน้นในเรื่องอื่นๆ ญี่ปุ่นเมื่อก่อนเขาก็พูดภาษาอังกฤษไม่เก่ง เดี๋ยวนี้เขาพูดได้และพูดดีขึ้น วิธีการของเขาคือเอาเจ้าของภาษามาสอน เขาเน้นเรื่องการสื่อสารก่อน ถึงจะเข้าสู่เรื่องไวยากรณ์ เราต้องปรับวิธีเรียนตรงนี้”
          ส่วนเรื่องโรงเรียนส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม ดร.สมเกียรติ บอกว่า ทาง สพฐ.ให้ความสำคัญ และมีโรงเรียนลักษณะนี้อยู่แล้ว เพราะชาติบ้านเมืองมีความจำเป็นและต้องการคนที่ดีมีความรู้และไม่โกง “เราต้องช่วยกันปลูกฝังค่านิยมใหม่ ไม่ใช่โกงบ้างก็ไม่เป็นไรให้พัฒนาประเทศได้ เรากำลังทำโรงเรียนที่เน้นเรื่องซื่อสัตย์สุจริต และขยายผลออกไปเรื่อยๆ คนเราถ้ามีความซื่อสัตย์สุจริต เรื่องอื่นๆก็จะตามมา”
          วิธีการที่เป็นรูปธรรม “เราต้องทำหลายอย่าง เป็นต้นว่าต้องพาเด็กเข้าวัดบ้าง ถ้าอยู่ไกลก็อาจจะต้องนิมนต์พระมาที่โรงเรียน เพื่อให้เด็กได้ใกล้ชิดหลักธรรม รู้จักคุณงามความดี หรืออาจจะให้เด็กไปทำบุญในวันพระ เป็นต้น”
          เรื่องนี้ “ผู้ใหญ่ต้องกำหนดเป็นนโยบาย อาจกำหนดเป็นวาระแห่งชาติก็ได้ แต่จะต้องมีการต่อยอดให้เขา ว่าถ้าเขาทำดีแล้ว มีคุณธรรม จริยธรรม ซื่อสัตย์สุจริตแล้ว เขาจะได้อะไร เรื่องนี้เรามีโครงการ ‘เด็กดีมีที่เรียน’ เราเอาเด็กเรียนดี มีจริยธรรม มีจิตอาสา เข้าไปเรียนต่อในมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยก็ให้ความร่วมมือมาเป็นอย่างดี อย่างมหาวิทยาลัยศิลปากร และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นต้น”
          โครงการ “ปั้นเด็ก” ให้เป็นคนดี ไม่ว่าจะเป็นของหน่วยงานไหน โรงเรียนใด หากมีการต่อยอดความดีให้เด็กอย่างเป็นรูปธรรม ย่อมเป็นแรงจูงใจที่ดียิ่ง.

          ที่มา: http://www.thairath.co.th

แบบเรียนภาษาไทย ในยุคต่างๆ



  โดย...ตุลย์ จตุรภัทร
          เมื่อพูดถึงแบบเรียนไทย เรามักจะจดจำแบบเรียนในยุคสมัยของตนเองได้ดียิ่งกว่าใคร ยิ่งได้พูดคุยกับเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกัน ยิ่งคุยกันได้ไม่รู้จบ แต่แบบเรียนในยุคสมัยใครก็เป็นยุคสมัยของคนคนนั้น เรารู้แต่แบบเรียนในยุคสมัยของเรา แล้วก็จบ คงจะดี หากเราจะได้มีโอกาสมาเรียนรู้แบบเรียนไทยในแต่ละยุคสมัย ซึ่งมันมีเรื่องราว มีที่มาที่ไป ที่เมื่อเราได้เรียนรู้ เราอาจค้นพบว่า
          แบบเรียนไทย มีอะไรมากกว่าที่เราคิด!
          แบบเรียนไทย ยุคที่ 1 ตาหวังหลังโก่ง
          (แบบเรียนรวมชาติ พ.ศ. 2414-2461)
          ยุคนี้เริ่มต้นจากแบบเรียนมาตรฐาน เกิดขึ้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงก่อตั้งโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบเป็นโรงเรียนแห่งแรก ใน พ.ศ. 2414 โดยมีพระยาศรีสุนทรโวหาร เมื่อครั้งเป็นหลวงประเสริฐ รับตำแหน่งอาจารย์ใหญ่คนแรก และแต่งตำราเรียนขึ้นใช้ในโรงเรียน เรียกว่า แบบเรียนหลวง 6 เล่ม ใช้เวลาเรียน 3 ปี จึงจะจบหลักสูตรการศึกษา ต่อมาใน พ.ศ. 2430 ได้มีการตั้งกรมศึกษาธิการ และในวันที่ 1 เม.ย. 2435 มีการปฏิรูปการปกครองครั้งใหญ่ โดยมีการจัดตั้งกระทรวง 12 กระทรวงขึ้นแทนการปกครองแบบเดิม โดยมีกระทรวงธรรมการ ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีพระองค์แรก รับผิดชอบด้านการศึกษาการสาธารณสุขและสงฆ์ มีการประกาศใช้หลักสูตรการศึกษาครั้งแรกใน พ.ศ. 2435 เรียกว่า “กฎพิกัดสำหรับการศึกษา” เพิ่มการเรียนวิชาต่างๆ นอกจากภาษาไทย และก่อตั้ง “กองแบบเรียน” เพื่อทำหน้าที่จัดพิมพ์แบบเรียนหลวง พิจารณาคัดเลือกหนังสือที่จะใช้เป็นแบบเรียน และกำกับดูแลเนื้อหาอย่างใกล้ชิด หนังสือบางเล่มที่ถูกนำมาใช้ จะต้องดัดแปลงเนื้อหาให้เหมาะสม
          ใน พ.ศ. 2443 พระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ได้เขียนตำราแบบเรียนคดีธรรม ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “แบบเรียนสมบัติผู้ดี” ที่เน้นการเอาพุทธศาสนามาปรับใช้ โดยแบบประพฤติดีนี้มีทั้งในทางกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม ใน พ.ศ 2445 เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี กับขุนอนุกิจวิธูร ร่วมกันเขียนแบบเรียนธรรมจริยา 2 เล่ม มีรูปแบบการนำเสนอคือการสมมติตัวอย่างในชีวิตประจำวัน และมีตัวละครขึ้นมาคือ นายชอบ ที่เป็นคนประหยัด มัธยัสถ์ กับนายชัง ที่มีนิสัยตรงข้าม ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเปรียบเทียบได้ชัดเจน แต่สำหรับเด็กวัด หรือลูกชาวบ้านที่ต้องช่วยพ่อแม่ทำไร่ทำนา มีเวลาเรียนแค่ปีละ 3 เดือน จึงไม่เหมาะกับตำราเรียนชุดนี้ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงทรงปรับปรุงเสียใหม่ เป็น “แบบเรียนเร็ว 3 เล่ม” เพื่อให้เด็กๆ ใช้เวลาเรียนน้อยลง ทรงผูกเรื่องสั้นๆ อย่างตาโป๋ขาเป๋ ตาหวังหลังโกง สำหรับฝึกอ่านเพิ่มเติม รวมทั้งเปลี่ยนจากการท่องจำเป็นการผสมคำทีละขั้นจนสามารถอ่านได้ง่ายขึ้น
          แบบเรียนไทย ยุคที่ 2 พ่อหลี พี่หนูหล่อ
          (แบบเรียนยุคพลเมืองดี พ.ศ. 2464-2474)
          ในยุคนี้การศึกษาสมัยใหม่เริ่มเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษาใน พ.ศ. 2464 กำหนดให้เด็กอายุ 714 ปี เข้ารับการศึกษาโดยไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน และมีการแต่งแบบเรียนใหม่ๆ ขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการปลูกฝังความคิดเรื่องรัฐชาติและพลเมือง ที่มุ่งเน้นให้นักเรียนเป็นพลเมืองดีของชาติ มีมารยาทดี และมีการศึกษา
          แบบเรียนไทย ยุคที่ 3 ป้ากะปู่ กู้อีจู้
          (แบบเรียนยุคชาติประชาธิปไตย พ.ศ. 2475-2500)
          การเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิ.ย. 2475 ส่งผลต่อการระบบการศึกษาเป็นอย่างมาก เนื่องจากคณะราษฎรได้ประกาศให้การศึกษาเป็นหนึ่งในหลักหกประการ ซึ่งเป็นแนวทางในการบริหารราชการแผ่นดิน และระบุไว้ในประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 ว่า “จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร”
          เมื่อคณะราษฎรได้ปรับปรุงแผนการศึกษา และประกาศเป็นประมวลการศึกษาพิเศษว่าด้วยหลักสูตรและประมวลการสอนใหม่ พ.ศ. 2480 ความสำคัญของหลักสูตรใหม่เมื่อเทียบกับหลักสูตรประถมศึกษา พ.ศ. 2464 คือ มีการเปลี่ยนชื่อวิชาธรรมจรรยา มาเป็นวิชาหน้าที่พลเมืองและศีลธรรม ต่อมาได้มีการปรับปรุงหลักสูตรครั้งใหม่ใน พ.ศ. 2490 ภายหลังที่ประเทศได้ผ่านสงครามโลกครั้งที่ 2 และเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญ แบบเรียนในยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองนี้ จะเน้นไปที่การสอนให้เด็กๆ สามัคคีและรักชาติ โดยแบบเรียนที่เป็นที่รู้จักของยุคนี้ คือ แบบเรียนเร็วใหม่ เล่ม 1 ตอนต้น แต่งโดยหลวงดรุณกิจวิทูรและนายฉันท์ ขำวิไล เป็นที่รู้จักจากประโยค “ป้ากับปู่ กู้อีจู้”
          ในช่วงต้นของการมีประชาธิปไตยในประเทศไทย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มีโอกาสเป็นนายกรัฐมนตรีถึง 2 ครั้ง ระหว่าง พ.ศ. 24812486 และ พ.ศ. 24912500 โดยในยุคแรก จอมพล ป. ยังคงดำเนินนโยบายการศึกษาตามหลักหกประการของคณะราษฎร โดยมุ่งเน้นด้านสามัญศึกษาและอาชีวศึกษา เพิ่มภาคปฏิบัติและการศึกษาภาคผนวก เพื่อให้ผู้ไม่รู้หนังสือได้รับการศึกษาจนอ่านออกเขียนได้ และเข้าใจหน้าที่พลเมืองให้มากที่สุด
          ในยุคที่ 2 จอมพล ป. เพิ่มความสนใจกับเรื่องการศึกษามากเป็นพิเศษ โดยเน้นการวางรากฐานเพื่อให้เยาวชนเติบโตเป็นคนดีของชาติ ให้ความสำคัญกับภาคเกษตรกรรมและสังคมชนบท การทำงานของคนแต่ละรุ่น รวมทั้งแนวคิดปฏิวัติวัฒนธรรม ดังที่ปรากฏในเนื้อหา แบบสอนอ่านมาตรฐาน 2 เล่ม และหนังสือชุด สุดากับคาวี ที่ดัดแปลงจากหนังสือชุด Janet and John ของประเทศนิวซีแลนด์ การใช้ตัวละครเอกเป็นเด็กชายหญิงสองพี่น้องที่ได้พบเรื่องราวต่างๆ ที่สอดคล้องกับระดับการเรียนรู้ของเด็ก กลายเป็นต้นแบบของแบบเรียนที่เขียนขึ้นในภายหลังอีกหลายเล่ม
          แบบเรียนที่รู้จักกันดีอีกชุดหนึ่งคือ “แบบเรียนชุดบันไดก้าวหน้า” มี “เรณู ปัญญา” เป็นตัวละครเอก ใช้เป็นแบบเรียนบังคับเพียงหนึ่งปี เพราะถูกวิจารณ์ว่าไม่มีการสอนสะกดคำ ทำให้เด็กอ่านหนังสือไม่ออก แต่ก็ยังถูกใช้เป็นแบบเรียนเลือกและเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง
          ถึงแม้แบบเรียนเหล่านี้จะมิได้นำมาใช้ในการเรียนการสอนแล้ว แต่ในปัจจุบันนักเรียนทุกคนยังคงต้องปฏิบัติตามคำสั่งของจอมพล ป. ด้วยการยืนตรงเคารพธงชาติเป็นประจำทุกวัน
          แบบเรียนไทย ยุคที่ 4 สองพี่น้อง เห็นวิหค นกพูดได้ ก็พอใจ อยากจะรัก ให้นักหนา
          (แบบเรียนยุคชาติสถาบัน พ.ศ. 2501-2521)
          จินตนาการเรื่องรัฐชาติในแบบเรียนถูกเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก้าวขึ้นมามีอำนาจแทนจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในยุคสมัยนี้การปกครองระบอบรัฐธรรมนูญที่มีมาตั้งแต่การปกครอง 2475 ระบบรัฐสภา การเลือกตั้ง พรรคการเมือง ถูกยกเลิกทั้งหมด พร้อมๆ กับการจำกัดสิทธิเสรีภาพของนักคิด นักเขียน และเชิดชูบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในฐานะของศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งชาติ แต่ในยุคนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาประเทศเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ โดยมีสหรัฐอเมริกาสนับสนุน
          แบบเรียนในยุคนี้มุ่งสอนให้นักเรียนเห็นความสำคัญของปัญหาความมั่นคงและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของประเทศชาติ สอดคล้องกับการที่รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ได้เปลี่ยนวันชาติจากวันที่ 24 มิ.ย. อันเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง มาเป็นวันที่ 5 ธ.ค. ซึ่งเป็นวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในแบบเรียนหน้าที่พลเมืองก็ได้ตัดหน้าที่ในการเคารพรัฐธรรมนูญออกไป เหลือแต่เพียง ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ หรือย้อนกลับไปหาหลักสูตร พ.ศ. 2464 เท่านั้น
          นอกจากนี้ ยังได้มีการนำหนังสือชุด “นิทานร้อยบรรทัด” ซึ่งแต่งขึ้นในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม มาปรับปรุงเนื้อหาและแต่งเพิ่มเติมบางส่วน ก่อนจะพิมพ์เล่มแรกใน พ.ศ. 2501 โดยนิทานร้อยบรรทัดมีทั้งหมด 6 เล่ม ได้แก่ เรื่องบ้านที่น่าอยู่ ตอนที่ 1 บ้านที่น่าอยู่ ตอนที่ 2 ครูที่รักเด็ก ประเทศเล็กที่สมบูรณ์ ตระกูลไทยที่คงไทย และประชาธิปไตยที่ถาวร หนังสือชุดนี้เรียบเรียงโดยหลวงสำเร็จวรรณกิจ เพื่อใช้เป็นแบบเรียนภาษาไทยสำหรับชั้นประถม ตีพิมพ์ครั้งแรกในสมัยจอมพลสฤษดิ์ แต่น่าจะแต่งเนื้อหาขึ้นในสมัยจอมพล ป. เพราะสะท้อนอุดมการณ์สร้างชาติอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับภาคเกษตรกรรม ในฐานะพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ ดังเช่นในเล่ม “ประเทศเล็กที่สมบูรณ์” กล่าวถึงความใฝ่ฝันของเด็กๆ ที่อยากเป็นเกษตรกร แต่สิ่งสำคัญที่แบบเรียนในยุคนี้ได้ปลูกฝัง คือ รัฐชาติที่มีประชาธิปไตยแต่เพียงรูปแบบ มีสิทธิเสรีภาพตามสมควร และมีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุขของชาติ
          บบเรียนไทย ยุคที่ 5 มานะ มานี ปิติ ชูใจ
          (แบบเรียนยุคชาติคือหมู่บ้านในอุดมคติ พ.ศ. 2522-2533)
          แบบเรียนชุดนี้ได้รับการกล่าวถึงมากที่สุด เพราะมีเทคนิคการเขียนที่ดี ด้วยการผูกเรื่องราวของตัวละครอย่าง มานะ มานี ปิติ ชูใจ ให้เติบโตไปพร้อมๆ กับเด็กนักเรียน โดยใช้ฉากหมู่บ้านในชนบทที่สงบสวยงามตามอุดมคติ โดยแบบเรียนชุดนี้ได้แฝงความคิดเรื่องชาติและหน้าที่ของพลเมืองที่ดีไว้อย่างเข้มข้นไม่แพ้แบบเรียนชุดอื่นๆ โดยเสนอจินตภาพของชาติเหมือนหมู่บ้านขนาดใหญ่ ปราศจากปัญหาเชิงโครงสร้าง มีแต่เพียงปัญหาที่เกิดจากศีลธรรมเสื่อมทราม เช่น ปัญหาการตัดไม้ เพราะความโลภของนายทุนบางคน และการดำเนินชีวิตในแบบเรียนชุดนี้ จะมีความรักชาติบ้านเมืองเป็นแรงผลักดันที่สำคัญอยู่เสมอ
          ในยุคนี้มีแบบเรียนบางเล่มที่กล่าวถึง “ภัยคอมมิวนิสต์” อย่างตรงไปตรงมาเป็นครั้งแรก คือแบบเรียนหน้าที่พลเมือง ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ได้เน้นว่า มุ่งสอนให้ตระหนักถึงภัยจากคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นลัทธิการเมืองที่ผิดแผกแตกต่างไปจากลัทธิประชาธิปไตย โดยคอมมิวนิสต์จะใช้วิธีกลืนชาติ และจะทำให้ไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่มีเสรีภาพ โดยวิธีการปลุกปั่นและโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ นอกจากนี้ยังได้เน้นย้ำให้เกิดความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ดังเช่นแบบเรียนหน้าที่พลเมืองชั้นประถมศึกษาชั้นปีที่ 4 กล่าวว่า “ถ้าหากประชาชนคนใดได้รับความทุกข์ ความเดือดร้อนจากภัยธรรมชาติหรือภัยพิบัติ ภัยอันเกิดจากการกระทำของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ พระมหากษัตริย์ไทยและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ จะเห็นว่าทุกข์ของประชาชนคือทุกข์ของพระองค์ พระองค์จะเสด็จไปเยี่ยมหาสิ่งของไปพระราชทาน รับว่าเป็นบุญอันล้นพ้นของเราที่ได้เกิดมาเป็นคนไทย”
          แบบเรียนไทย ยุคที่ 6 กล้า แก้ว กับ ใบบัว ใบโบก และเด็กชายภูผา
          (แบบเรียนยุคปัจจุบัน)
          กระทรวงศึกษาธิการได้เปลี่ยนแปลงแบบเรียนภาษาไทยระดับประถมศึกษาอีกครั้ง ตามหลักสูตรประถมศึกษา พ.ศ. 2521 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2533) และเริ่มใช้แบบเรียนชุด “กล้า แก้ว” ใน พ.ศ. 2537 เป็นแบบเรียนที่เน้นภาพประกอบสีสันสวยงาม และตัวหนังสือขนาดใหญ่ อ่านง่ายเหมือนหนังสือภาพสำหรับเด็ก
          ทว่า ในปัจจุบันได้ประกาศใช้ “แบบเรียนชุดภาษา พาที” เป็นหนังสือภาษาไทยประจำหลักสูตร พ.ศ. 2551 โดยมีตัวละครในการเดินเรื่องคือ “ใบโบก” ช้างสีฟ้า และ “ใบบัว” ช้างสีส้ม เป็นเพื่อนของเด็กชายภูผา บทที่เด็กๆ ท่องได้ขึ้นใจเป็นอย่างดีคือ มา มาดูใบบัว มา มาดูใบโบก ฯลฯ ในแบบเรียนยุคนี้ มีการพัฒนาสื่อการสอนประกอบได้อย่างน่าสนใจ ทั้งแบบเรียนดิจิทัล การ์ตูนแอนิเมชั่นประกอบบทเรียนแต่ละบท สามารถสืบหาได้จากอินเทอร์เน็ตได้ไม่ยาก
        
  ที่มา: http://www.posttoday.com