วันอาทิตย์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2557

การศึกษาไทย ยุคนี้ ต้องปั้นคนดีให้ชาติ ทำได้ไหม ครูไทย


การศึกษาไทย ยุคนี้ ต้องปั้นคนดีให้ชาติ

 ดร.สมเกียรติ บุญรอด -มานิจ สุขสมจิตร
          คนดี มีความรู้คู่จริยธรรม คือคุณสมบัติของคนที่ชาติต้องการ
          คุณสมบัตินี้จะเกิดได้ด้วยการศึกษา ดร.สมเกียรติ บุญรอด ผู้ช่วยเลขาธิการ คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ชี้ให้เห็นความสำคัญเรื่องการสร้างคนดีว่า “คุณธรรมและจริยธรรมของเด็กสำคัญมาก เพราะเด็กคืออนาคตของชาติ ประเทศชาติจะเดินไปข้างหน้าได้ต้องอาศัยเด็กในวันนี้ ถ้าเราไม่สามารถที่จะสร้างจริยธรรมและคุณธรรมให้เกิดขึ้นได้ ต่อไปเราก็จะลำบาก”
          และที่สำคัญ “ผู้ใหญ่ต้องเป็นต้นแบบให้เด็ก เพราะการปฏิบัติให้เห็นเป็นให้ดู มีผลมากกว่าคำสอน ทั้งครูบาอาจารย์ ครอบครัวต้องเป็นต้นแบบให้กับเด็ก จริงอยู่ว่าการปลูกฝังเป็นหน้าที่สำคัญของกระทรวงศึกษาธิการ แต่เราก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง”
          ด้วยเจตนาสร้างคนดีสู่สังคม มูลนิธิไทยรัฐที่ดูแลโรงเรียนไทยรัฐวิทยาถึง 101 โรงเรียน จึงผุดโครงการต้นแบบโรงเรียนไทยรัฐวิทยาขึ้นมา “จริงๆ แล้วเป็นเจตนารมณ์ของ ผอ.กำพล วัชรพล ที่จะสร้างโรงเรียนคนดี มีคุณภาพ เมื่อสอดคล้องกับความต้องการของสังคมปัจจุบันเราก็เลยตอบสนอง” นายมานิจบอก
          นายมานิจ สุขสมจิตร กรรมการมูลนิธิไทยรัฐ ยืนยันในงานสัมมนาโครงการต้นแบบโรงเรียนไทยรัฐวิทยา ณ สวนส้มรีสอร์ท อำเภอวัดเพลง จังหวัดราชบุรี โครงการต้นแบบโรงเรียนไทยรัฐวิทยานี้ เริ่มดำเนินการช่วงแรกระหว่างปีการศึกษา 2557-2560
          กิจกรรมการเรียน นอกจากเรียนตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการแล้ว จะจัดตามกรอบแนวคิด 5 ประการ คือ 1.เป็นผู้นำในเรื่องการพัฒนา ความเป็นพลเมืองดี มีคุณธรรม จริยธรรม 2.เป็นผู้นำในเรื่องหลักสูตรสื่อมวลชนศึกษา 3.นักเรียนทุกคนในโรงเรียนเป็นพลเมืองดี และ 4.บุคลากรทุกคนในโรงเรียนเป็นพลเมืองดี
          ต้นแบบโรงเรียนไทยรัฐวิทยาที่คณะกรรมการได้คัดเลือกเป็นโรงเรียนนำร่อง คือ 1.โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 83 บ้านห้วยโจด ตำบลห้วยโจด อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว 2.โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 12 บ้านเอก ตำบลมะลิกา อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ 3.โรงเรียน ไทยรัฐวิทยา 40 บ้านควนโพธิ์ ตำบลควนโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดสตูล 4.โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 87 นิคมสร้างตนเอง 1 อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี
          และ 5.โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 75 เฉลิมพระเกียรติ แขวงคลองถนน เขตสายไหม กรุงเทพมหานคร
          เหตุผลที่เลือก 5 โรงเรียนนี้ นายมานิจบอกว่า เลือกโรงเรียนที่เป็นศูนย์กลางแต่ละภาค ผู้บริหารหน่วยก้านดีที่จะเป็นต้นแบบ สามารถสืบทอดเจตนารมณ์ของมูลนิธิได้ สาเหตุที่ต้องเลือกแค่ 5 โรงเรียนก่อน เพราะจะได้ฟูมฟักไว้เป็นต้นแบบ ถ้ามีอะไรแก้ไขจะได้คล่องตัว
          แรกสุด “เราไม่ได้หวังให้เกิดถึง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่อย่างน้อยให้เด็กเป็นพลเมืองดี มีคุณภาพทางการศึกษา”
          สำหรับ “การพัฒนาโรงเรียนไทยรัฐวิทยาทั้งหมดนั้น หากเราเดินทางไปพร้อมๆกันมันคงไม่คล่องตัว ต้องทำเป็นต้นแบบก่อน ติดขัดอะไรค่อยแก้ไขปรับปรุงไป เรามีคู่มือประเมินดูว่า ผลจะเกิดตามที่เราต้องการหรือไม่ เราให้เอาใจใส่กับกลุ่ม 8 สาระ และเสริมด้านคุณธรรม จริยธรรมเข้าไป ให้เข้มแข็งทั้งด้านวิชาการและเป็นคนดี” เพราะเรา “มุ่งเน้นให้โรงเรียนไทยรัฐวิทยาเป็นโรงเรียนผลิตคนดี สอนคนดีออกมาสู่สังคม” นายมานิจบอก
          ด้วยความตระหนักในการ “หล่อหลอม” นายสมเกียรติบอกว่า การศึกษาขั้นพื้นฐานได้ระดมนักวิชาการทำคู่มือครู เพื่อใช้อบรมสั่งสอนเด็ก วิชาที่ให้ความสำคัญเป็นพิเศษคือ วิชาหน้าที่พลเมืองและศีลธรรม คาดว่าจะนำมาสอนตั้งแต่เทอมหน้าเป็นต้นไป
          โครงการปั้นเด็กนั้น “เรามีโครงการนำร่องในหลายๆ เรื่อง โครงการเหล่านั้นเราจะพยายามดึงต้นแบบของไทยรัฐวิทยาเข้าร่วมด้วย อย่างโครงการคุณครูสอนดี โรงเรียนมีจริยธรรม โรงเรียนเศรษฐกิจพอเพียง เราจะบูรณาการเข้าด้วยกัน สิ่งเหล่านี้จะเป็นพื้นฐานให้เด็กเป็นคนดีในภายหน้า”
          เพื่อเติมศักยภาพในการสอน “เรามีโครงการพัฒนาร่วมกับมหา– วิทยาลัยบูรพา ซึ่งเราจะเชิญโรงเรียนต้นแบบไทยรัฐวิทยาทั้ง 5 โรงเข้าไปร่วมด้วย นอกจากการอบรมแล้ว เราจะส่งครูไปเทรนด์ที่ประเทศสิงคโปร์ มีเป้าหมายอยู่ที่ 300 คน”
          หน้าตาการศึกษาที่ต้องการปรับปรุง น่าจะทำอย่างไรบ้าง ดร.สมเกียรติบอกว่า ต้องปรับวิธีเรียนและเปลี่ยนวิธีสอน การปรับวิธีเรียนคือ “เด็กเดี๋ยวนี้เน้นการเรียนแบบท่องจำ และการเรียนรู้ของเด็กยังถูกกำกับโดยข้อสอบเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย ข้อสอบที่ออกมานั้น มักจะเป็นข้อความเชิงความจำและความคิดเท่านั้น ไม่ก้าวล่วงไปถึงการวิเคราะห์ ทำให้เด็กเข้าไปกวดวิชาเพื่อที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้เท่านั้น”
          การปรับวิธีเรียน “ถ้าปรับเราก็ต้องปรับทั้งระบบ อย่างในประเทศที่ประสบความสำเร็จในการศึกษา เป็นต้นว่าประเทศสิงคโปร์ ถือได้ว่าเป็นเบอร์หนึ่งของอาเซียน นอกจากนั้นก็ยังมีญี่ปุ่น ฟินแลนด์ ประเทศเหล่านี้มีผลทางการศึกษาดี เราพบว่าการเรียนของเขาจะทำเป็นโครงงาน การเรียนเป็นกระบวนการแก้ปัญหา ฝึกให้เด็กคิด วิเคราะห์ แล้วสามารถสรุปองค์ความรู้ได้ด้วยตนเอง แต่ของไทยเราเรียนตามครูบอก นั่นก็ต้องปรับวิธีสอนด้วย อาจจะต้องคิดวิธีการเรียนการสอนที่ให้เด็กสืบเสาะหาความรู้ด้วยตนเอง แล้วสรุปองค์ความรู้ได้ ครูเป็นผู้อำนวยการในกิจกรรม คือเราต้องปรับวิธีเรียนของเด็ก และวิธีสอนของครูด้วย”
          ดร.สมเกียรติเน้นว่า เรื่องการสอนภาษาอังกฤษต้องเปลี่ยนวิธีการสอนใหม่ เพราะ “เด็กนักเรียนไทยสมัยก่อน เรียนภาษาอังกฤษมาเป็นสิบปี แต่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ เพราะเราไปเน้นเรื่องแกรมม่า ไม่ได้เน้นเรื่องพูด เราถึงพูดกันไม่ได้”
          การแก้ไขในเรื่องนี้ “เราไปเน้นการพูดให้ถูกไวยากรณ์ พอจะพูดกันจริงๆ ก็พูดไม่ได้ มันอาจจะต้องเริ่มจากการพูดกันให้ได้ก่อน ค่อยไปเน้นในเรื่องอื่นๆ ญี่ปุ่นเมื่อก่อนเขาก็พูดภาษาอังกฤษไม่เก่ง เดี๋ยวนี้เขาพูดได้และพูดดีขึ้น วิธีการของเขาคือเอาเจ้าของภาษามาสอน เขาเน้นเรื่องการสื่อสารก่อน ถึงจะเข้าสู่เรื่องไวยากรณ์ เราต้องปรับวิธีเรียนตรงนี้”
          ส่วนเรื่องโรงเรียนส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม ดร.สมเกียรติ บอกว่า ทาง สพฐ.ให้ความสำคัญ และมีโรงเรียนลักษณะนี้อยู่แล้ว เพราะชาติบ้านเมืองมีความจำเป็นและต้องการคนที่ดีมีความรู้และไม่โกง “เราต้องช่วยกันปลูกฝังค่านิยมใหม่ ไม่ใช่โกงบ้างก็ไม่เป็นไรให้พัฒนาประเทศได้ เรากำลังทำโรงเรียนที่เน้นเรื่องซื่อสัตย์สุจริต และขยายผลออกไปเรื่อยๆ คนเราถ้ามีความซื่อสัตย์สุจริต เรื่องอื่นๆก็จะตามมา”
          วิธีการที่เป็นรูปธรรม “เราต้องทำหลายอย่าง เป็นต้นว่าต้องพาเด็กเข้าวัดบ้าง ถ้าอยู่ไกลก็อาจจะต้องนิมนต์พระมาที่โรงเรียน เพื่อให้เด็กได้ใกล้ชิดหลักธรรม รู้จักคุณงามความดี หรืออาจจะให้เด็กไปทำบุญในวันพระ เป็นต้น”
          เรื่องนี้ “ผู้ใหญ่ต้องกำหนดเป็นนโยบาย อาจกำหนดเป็นวาระแห่งชาติก็ได้ แต่จะต้องมีการต่อยอดให้เขา ว่าถ้าเขาทำดีแล้ว มีคุณธรรม จริยธรรม ซื่อสัตย์สุจริตแล้ว เขาจะได้อะไร เรื่องนี้เรามีโครงการ ‘เด็กดีมีที่เรียน’ เราเอาเด็กเรียนดี มีจริยธรรม มีจิตอาสา เข้าไปเรียนต่อในมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยก็ให้ความร่วมมือมาเป็นอย่างดี อย่างมหาวิทยาลัยศิลปากร และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นต้น”
          โครงการ “ปั้นเด็ก” ให้เป็นคนดี ไม่ว่าจะเป็นของหน่วยงานไหน โรงเรียนใด หากมีการต่อยอดความดีให้เด็กอย่างเป็นรูปธรรม ย่อมเป็นแรงจูงใจที่ดียิ่ง.

          ที่มา: http://www.thairath.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

การแสดงความคิดเห็นมาจากบุคคลทั่วไป Admin ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบต่อความคิดเห็นนั้น และสามารถที่จะลบข้อความนั้นทิ้ง โดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า หากข้อความนั้น ไม่สร้างสรรค์ หรือไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา

โปรดแสดงความคิดเห็นอย่างสุภาพ